พิธีประดิษฐานรูปหล่อสำริดพระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) วัดวิชิตสังฆาราม

พระยาวิชิตสงคราม มีชื่อเดิมว่า ทัต เป็นบรรพบุรุษของตระกูล รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เป็นเจ้าเมืองภูเก็จ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๒ – ๒๔๑๒ เป็นจางวางเมืองภูเก็จปี พ.ศ. ๒๔๑๒ – พ.ศ. ๒๔๒๑ โดยได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นพระยาวิชิตสงคราม รามฤทธิเดช โลหเกษตรารักษ์ พิทักษ์สยามรัฐสีมา มาตยานุชิตพิพิธภักดี พิริยพาหะ จางวาง (วิเศษ) (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)

 

            พระยาวิชิตสงคราม (๒๓๖๗-๒๔๒๑)  เป็นบุตรของพระภูเก็จ (แก้ว) เจ้าเมืองภูเก็จ (กะทู้) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ กับอำแดงแจ่ม ธิดาพระยาตะกั่วทุ่ง (ถิ่น) และเป็นหลานปู่พระยาถลาง หรือพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ ประสิทธิสงคราม (เจิม) เจ้าเมืองถลาง (พ.ศ.๒๓๕๔-พ.ศ.๒๓๘๐) พระภูเก็จ (แก้ว) บุตรพระยาถลางเจิม ได้บุกเบิกป่าดงดิบขุดหาแร่ดีบุกแหล่งใหม่ที่กะทู้ และได้ตั้งเมืองขึ้นเป็นเมืองภูเก็จ (เก่า) พระยาวิชิตสงครามสมัยนั้นเริ่มเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๓ จนได้เป็นหลวงมหาดไทย (ทัต) กรมการเมืองถลาง ต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นหลวงพิทักษ์ทวีป (ทัต) กรมการเมืองภูเก็จฝ่ายมหาดไทย ได้มาช่วยราชการบิดาบุกเบิกแหล่งแร่ดีบุกแห่งใหม่นี้ ต่อมาพระภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ (แก้ว) เจ้าเมืองภูเก็จ (เก่า) บิดาถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.๒๓๙๒ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ หลวงพิทักษ์ทวีป (ทัต) จึงได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นพระภูเก็จ (ทัต) เจ้าเมืองภูเก็จ (เก่า) แทนที่บิดา

 

               พระภูเก็จ (ทัต) ได้ขยายพื้นที่ขุดหาแร่จากกะทู้มายังท้องที่บ้านทุ่งคาริมอ่าวภูเก็ต โดยใช้ลำน้ำบางใหญ่เป็นเส้นทางในการบุกเบิกจนค้นพบแหล่งแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์ สมัยนั้นบ้านทุ่งคาหรือบ้านท่องคายังเป็นป่ารกร้างและเป็นป่าชายเลน ริมทะเลที่ยังไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เมื่อพระภูเก็จ (ทัต) ได้มาบุกเบิกทำแร่ดีบุกจนจัดตั้งเป็นบ้านเมืองร้านค้าเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีประชาชนคับคั่งสมควรเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองภูเก็จ (ใหม่) ที่บ้านทุ่งคาขึ้นแทนที่เมืองภูเก็จ (เก่า) ที่กะทู้ และทรงพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนพระภูเก็จ (ทัต) ขึ้นเป็นพระยาภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ เจ้าเมืองภูเก็จ (ใหม่)

 

               พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) เป็นเจ้าเมืองนักพัฒนาที่มีความสามารถสูง ท่านได้ชักชวนและสนับสนุนให้ชาวจีนจากเมืองปีนังและสิงคโปร์เดินทางเข้ามาลงทุน โดยให้สัมปทานในการขุดหาแร่ในเมืองภูเก็จเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนทั้งในละแวกเมืองเก่าที่บ้านกะทู้หรือเก็ตโฮ่ และเมืองภูเก็จใหม่ที่บ้านทุ่งคาริมอ่าวภูเก็จ นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมืองยิ่งกว่าสมัยใด ๆ นอกจากนี้ก็ได้มีการสนับสนุนให้ประชาชนทำการเกษตรปลูกข้าวทำนาทำไร่     ทำสวนและได้ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้เมืองภูเก็จเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากพระภูเก็จ (ทัต) เป็นเจ้าเมืองได้ ๔ ปี เมืองภูเก็จก็สามารถเจริญทัดเทียมกับเมืองถลาง ดังปรากฏในพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ ๔ เพื่อการยกฐานะเมืองภูเก็จให้มีฐานะเทียบเท่าเมืองถลางในปี พ.ศ.๒๓๙๖

 

               พระยาวิชิตสงคราม ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ (ซึ่งถือว่าเป็นศักดินาที่สูงสุดของเสนาบดีเทียบเท่าบรรดาศักดิ์ในตำแหน่งเจ้าพระยา) ที่ดินของท่านอยู่บริเวณเชิงเขาโต๊ะแซะไปจนจรดเชิงเขารังและริมอ่าวทุ่งคาซึ่งเป็นที่ตั้งตัวเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งได้ใช้เป็นสถานที่สร้างศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ศาลจังหวัดภูเก็ต สถานที่ราชการต่างๆ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของวัดวิชิตสังฆาราม (วัดควน)

 

               พระยาวิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ ศิริรวมอายุ ๕๔ ปี

 

อนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ

               การสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) เป็นความร่วมมือของจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต วัดวิชิตสังฆาราม และประชาชนชาวภูเก็ตทุกภาคส่วน เพื่อเชิดชู ระลึกถึงคุณงามความดี และเผยแพร่เกียรติคุณของผู้ตั้งเมืองภูเก็ตเมื่อ ๑๗๑ ปีที่แล้ว  อนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต) จะเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต ที่กระตุ้นเตือนให้ลูกหลานชาวภูเก็ตและประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา อีกทั้งจะเป็นสถานที่สำหรับศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ภูเก็ตที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

 

               ประติมากรผู้ปั้นรูปหล่อสำริดพระยาวิชิตสงครามฯ คือ อาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล ซึ่งเป็นประติมากรไทยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ  ผลงานชิ้นเอกของอาจารย์สันติที่ผ่านสายตาคนไทย คือ งานประติมากรรมพระรูปเหมือนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแย้มพระสรวล ซึ่งได้เริ่มต้นงานปั้นในสถานที่ที่พระองค์ท่านทรงเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เคมบริดจ์ รัฐแมสซาซูเชตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา  อาจารย์สันติ มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะมาสร้างผลงานประติมากรรมเหมือนจริงพระยาวิชิตสงครามฯ ให้กับชาวภูเก็ต

 

ที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ          

               อนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ ประดิษฐานอยู่บริเวณมุมหน้าวัดวิชิตสังฆาราม (วัดควน) ระหว่าง ถนนนริศรกับถนนเทศา ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้สร้างขึ้นมาพร้อมกับการตั้งเมืองภูเก็ต

 

รายละเอียดอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ

วัสดุ ซิลิคอนบร็อนซ์ (สำริด)

ขนาดรูปหล่อ สูง ๒.๕๕ เมตร กว้าง ๑.๙๙ เมตร ลึก  ๑.๙๙ เมตร

ขนาดฐานอนุสาวรีย์ สูง ๒.๐๙ เมตร กว้าง ๒.๔๕ เมตร ลึก ๒.๔๕ เมตร

โรงหล่อ สมบุญไฟน์อาร์ท อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

พื้นที่ลานบริเวณอนุสาวรีย์ ๑๖๔ ตรม.

 

งบประมาณในการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาวิชิตสงครามฯ

งบประมาณในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ฯ ทั้งหมดประมาณ ๙.๓ ล้านบาท (เก้าล้านสามแสนบาทถ้วน) โดยแบ่งเป็น งานประติมากรรม ๗.๕ ล้านบาท (เจ็ดล้านห้าแสนบาทถ้วน) และงานสร้างฐานลานบริเวณอนุสาวรีย์ ๑.๘ ล้านบาท (หนึ่งล้านแปดแสนบาทถ้วน)

 

พิธีประดิษฐานรูปหล่อสำริดพระยาวิชิตสงครามฯ

กำหนดการในวันศุกร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๙ น.โดยท่านพระครูเมตตาภิรมย์ เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายภัคพงศ์  ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส