กู่กาสิงห์ โบราณสถานหลายร้อยปีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของไทย

กู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ในวัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโบราณสถานสถาปัตยกรรมแบบเขมรอีกแห่งหนึ่ง มีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังอยู่ในสภาพดี กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะกู่กาสิงห์ ให้สวยงามยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสานของไทย

กู่กาสิงห์จะประกอบไปด้วยปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่เรียกว่าบรรณาลัยอยู่ทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ทั้งหมดจะถูกล้อมด้วยกำแพงที่มีซุ้มประตู 4 ทิศด้วยกัน โดยมีคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ปรางค์ประธาน จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนปรางค์องค์กลางจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ปรากฏลวดลายสลักต่างๆ เช่น ลายกลีบบัวและลายกนกแบบแผนผัง นอกจากนี้ยังพบทับหลังอีกหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว และยังพบซุ้มหน้าบันสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายก้านขด  

กู่กาสิงห์เป็นโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลจากศิลป์แบบเขมร สร้างขึ้นตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย โดยนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุดจากการศึกษาลวดลายหน้าบัน ทับหลังและลวดลายอื่นๆ ทราบว่าตรงกับสมัยศิลปะเขมรแบบบาปวน อายุราว พ.ศ. 1550 – 1630 การเรียกชื่อ โดยทั่วไปยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าขอมเรียกโบราณสถานแห่งนี้ว่าอย่างไร แต่ภาษาที่ใช้เรียกชื่อเป็นภาษาไทย จึงเชื่อว่าคำว่า “กู่กาสิงห์”เป็นคำที่คนไทยลาวได้ตั้งชื่อขึ้นใหม่โดยคำว่ากู่เป็นคำที่ใช้เรียกโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายสถูปหรือเจดีย์เก่าแก่ในอีสานตอนกลางคำว่ากาน่าจะมาจากรูปพระยาครุฑหรือนกอินทรีย์ที่เคยปรากฏอยู่ที่กู่นอกจากนี้คำว่ากายังเป็นคำในภาษาถิ่นตรงกับคำในภาษาไทยกลางคือคำว่าตราซึ่งแปลว่าเครื่องหมาย ส่วนคำว่าสิงห์ เป็นคำใช้เรียกรูปประติมากรรมสิงห์ที่เคยมีตั้งไว้ประตูทางเข้ากู่ ดังนั้นกู่กาสิงห์จึงหมายถึงโบราณสถานที่มีรูปกาและสิงห์เป็นเครื่องหมาย