29 กันยายน วันหัวใจโลก N Health แนะดูแลสุขภาพ – เช็คสัญญาณเสี่ยง
29 กันยายน วันหัวใจโลก สถิติเผย คนไทยเสียชีวิตเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน
N Health แนะดูแลสุขภาพ – เช็คสัญญาณเสี่ยง
วันที่ 29 กันยายนของทุกปีเป็น วันหัวใจโลก (World Heart Day) ถือกำเนิดขึ้นเนื่องจาก สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) ต้องการให้ทุกประเทศทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญในการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน เกิดความตระหนัก และเร่งแก้ไขปัญหาโรคนี้ เนื่องจากเป็นสาเหตุการป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยการศึกษาวิจัยจากทั่วโลกพบว่า พันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคนมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ ทั้ง 4 อันได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และความอ้วน ที่เป็นตัวเร่งสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจ เพราะโรคเหล่านี้มีผลต่อหลอดเลือดในแบบต่าง ๆ เช่น ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว หรือหลอดเลือดตีบตันแคบ เป็นต้น
ทนพ.ญ.ปราณี ทวีพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจด้านห้องปฏิบัติการทางคลินิก บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (N Health) กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของหัวใจ คือ การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดตลอดชีวิตของเรา ถ้าหากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หัวใจก็จะทำงานหนักขึ้นไปอีก อาจเกิดภาวะหัวใจวายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งการเสียชีวิตจากสาเหตุนี้แทบไม่มีใครรู้ตัวล่วงหน้าเลย คนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะในวัยรุ่น ไม่ใส่ใจและไม่รู้ถึงความรุนแรงและความน่ากลัวของโรคนี้เลย แต่จากสถิติแสดงให้เห็นว่าโรคหัวใจนั้น ติด 1 ใน 3 ของโรคที่คร่าชีวิตคนมากที่สุด และมีท่าทีว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 58,681 คน ต่อ ปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน โดยพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ชายในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป
สำหรับความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ มีทั้งแบบควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ สำหรับแบบที่ควบคุมไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมจากพ่อ แม่ ปู ย่า ตา ยาย ที่เคยมีประวัติเคยเป็นโรคนี้ และแบบที่ควบคุมได้เช่น การรับประทานอาหารเยอะเกินไป ทำให้มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับการกินอาหารรสชาติหวาน เค็ม หรืออาหารที่มันเกินไป การรับประทานผักผลไม้น้อย ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ การไม่ออกกำลังกาย รวมทั้งการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า โดยอาการที่สังเกตได้ง่าย ๆ คือ อาการเหนื่อยง่าย แน่นและเจ็บหน้าอก หอบ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ขาบวม เป็นลม วูบ และท้ายที่สุดคือหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
โรคหัวใจเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด การดูแลตัวเองที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันโรคนี้ คือ การออกกำลังกาย ลดดื่มเหล้าสูบบุหรี่ และรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ อย่างเช่นที่ N Health มีการตรวจเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ ด้วยการตรวจระดับไขมันในเลือด ตรวจหาภาวะหัวใจล้มเหลว ตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และตรวจหาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพื่อวางแผนการดูแลและใช้ชีวิตในเชิงการป้องกันมากกว่าการรักษา