บาบ๋า ย่าหยา
ภูเก็ตมีการผสมผสานวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองชาวจีน ชาวอินเดียและชาวตะวันตก จึงนำมาสู่การเกิดวัฒนธรรมข้ามชาติในจังหวัดภูเก็ต ทั้งภาษา การสร้างที่อยู่อาศัย การแต่งกายและอาหาร เป็นการผสมผสานของหลายชนชาติออกมาอย่างสวยงาม เช่น วัฒนธรรมเรื่องการแต่งกาย
เดิมทีแล้ว ชุดบาบ๋า-ย่าหยาจะใส่เสื้อคอตั้ง แขนจีบ แล้วคลุมด้วยชุดครุยยาวมาถึงช่วงต้นขา แต่เมื่อชุดเริ่มแพร่หลายในภูเก็ตที่มีอากาศร้อน จึงเกิดการประยุกต์ให้ชุดครุยสั้นลง เหลือเพียงแค่ช่วงเอวเท่านั้น นำไปสู่ชุดเคบายา
ในยุคแรกเราเรียกว่า ชุดเคบายาลินดา ซึ่งมีการปักลายลูกไม้ไว้ที่เสื้อครุย โดยมีการสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลด้านการปักและผลิตผ้าลูกไม้ทำมือมาจากประเทศฮอนลันดาหรือเนเธอร์แลนด์ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นเคบายา บีกู ที่เพิ่มการฉลุลายริมขอบเสื้อด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักร และพัฒนาสู่เคบายาซูแลม ที่ใช้ลวดลายและการปักจากพื้นที่ท้องถิ่นในภูเก็ตมากยิ่งขึ้น
การแต่งกายบาบ๋าย่าหยา สาวๆมักจะเลือกสีสันสดใส เลือกสีผ้าถุงปาเต๊ะที่สีตัดกัน ทำให้โดดเด่นมีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก ด้วยสีสันของเสื้อและยังมีลวดลายของผ้าปาเต๊ะ ทำให้ความสวยงามแบบบาบ๋าย่าหยา เป็นที่แพร่หลายไปในหลายภาคทั่วประเทศไทย และเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน เราก็อาจจะพบเห็นสาวๆหลายท่าน นำเสื้อบาบ๋าหรือย่าหยาไปใส่กับกางเกงหรือกระโปรง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ยังคงโชว์ความมีสไตล์ของเสื้อผ้า เป็นสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร
การแต่งกายแบบบาบ๋า-ย่าหยา จะมีโอกาสเห็นบ่อยที่สุดคือการแต่งงานของบ่าว-สาวเพอรานากัน ที่ฝ่ายหญิงสวมชุดบาบ๋า-ย่าหยา พร้อมเครื่องประดับทั้งตัว รวมถึงฝ่ายชายสวมชุดสูท รองเท้าหนัง มีเครื่องประดับคือ ปิ่นตั้ง และคอสาร์ท ที่ทำมาจากขนกระต่าย เพื่อแสดงให้รู้ว่านี่คือเจ้าบ่าว
“ประเพณีการแต่งงานบาบ๋า” หรือ ประเพณีวิวาห์บาบ๋าย่าหยา เพอรานากัน เป็นการแต่งงานแบบจีนในภูเก็ต ที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี และยังเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวภูเก็ตเชื้อสายจีน เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีโบราณ รวมทั้งเป็นการให้เกียรติแก่ฝ่ายเจ้าสาวและครอบครัว ให้มีความมั่นใจในตัวเจ้าบ่าวว่าจะสามารถดูแลเจ้าสาวอย่างมีความสุข การสู่ขอ หมั้นหมาย หรือที่เรียกว่า “ผ่างเต๋” คือ การเชิญญาติผู้ใหญ่จิบน้ำชา และ “เวียนสาดเวียนหมอน” คือ พิธีส่งตัวบ่าวสาวเข้าห้องนอน โดยมี “อึ่มหลาง” หรือแม่สื่อเป็นผู้ดำเนินพิธีการต่างๆให้ เพราะในสมัยก่อนคู่สมรสมักไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน จนกว่าจะถึงวันแต่งกัน
ความพิเศษของพิธีแต่งงานบาบ๋า มีหลายอย่างด้วยกัน โดยเริ่มตั้งแต่ชุดแต่งงานของ บ่าว-สาว
ชุดของเจ้าบ่าวมีลักษณะ เป็นสูทแบบฝรั่ง เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่ง และการดำเนินชีวิตของชาวเพอรานากันที่ค้าขายกับบริษัทชาวต่างชาติ
ชุดของเจ้าสาว จะใส่ชุดปันจูปันจัง เป็นชุดยาวที่มีความงดงามด้วยลายผ้าเสื้อตัวในเป็นเสื้อลูกไม้สีขาวคอ ตั้งแขนจีบ นุ่งผ้าลายปาเต๊ะ สวมเสื้อครุยผ้าป่านรูเปีย หรือผ้ามัสลินปักลวดลาย ซึ่งจะเลือกสีคลุมโทนเดียวกับผ้านุ่ง สวมใส่เครื่องประดับประจำตระกูล ติดเครื่องประดับทองชุดใหญ่ ที่เรียกว่า โกสัง มีเข็มกลัดชิ้นใหญ่ และอีก 3 ชิ้นเล็ก ใส่กำไลข้อเท้า สวมรองเท้าปักดิ้น หรือลูกปัด ทรงผมมีเอกลักษณ์ คือ ทรงผมเกล้าสูง มีชื่อเรียกว่า ทรงซักอีโบย และที่สำคัญ คือ เจ้าสาวต้องใส่มงกุฎทอง “ดอกไม้ไหว” ที่ทำด้วยทองคำ เกิดขึ้นจากปิ่นปักผมทั้งหมด 144 ชิ้น ที่ได้มาจากญาติพี่น้องของเจ้าสาว ใช้ปักเกล้ามวยผมจนกลายเป็นรูปมงกุฎขึ้นมา ด้านบนประดับด้วยหงส์หรือนกฟินิกซ์ ซึ่งถือเป็นสัตว์ใหญ่ มีเสียงร้องกังวาน สื่อถึงเจ้าสาวเมื่ออยู่ภายในบ้านเจ้าบ่าวแล้วจะต้องมีวาจาอ่อนหวาน และดูแลสามีให้มีความสงบร่มเย็นได้
วัฒนธรรมเพอรานากันบางส่วนอาจจะแปรเปลี่ยนไปตามเวลา และยังคงฝังอยู่ในรากเหง้าของคนภูเก็ต เพียงแค่แปรเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมปัจจุบันเท่านั้นเอง