ลั่นฆ้องงานประชุมรัฐมนตรี SME APEC ครั้งที่ 28 มุ่งพัฒนา MSME สู่ความยั่งยืน
การประชุมรัฐมนตรี SME APEC ครั้งที่ 28 เริ่มขึ้นแล้ว 21 เขตเศรษฐกิจเอเปก เข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียง เป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพ MSME ทั้งการประยุกต์ใช้ BCG, Digital Transformation เงินทุน รวมถึงการตลาด เพื่อลดปัญหาอุปสรรคและขับเคลื่อนการส่งเสริม MSME ของภูมิภาคภายใต้ BCG Model สู่ความยั่งยืน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28 เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เขตเศรษฐกิจไทย โดย สำนักงานงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ได้รับความร่วมมือจากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ส่งผู้แทนระดับรัฐมนตรี คณะทำงาน รวมทั้งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) สมาคมประชาชาติแห่งตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และเลขาธิการองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (PIF) เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ณ โรงแรมทราย ลากูน่า ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เพราะ MSME มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค เนื่องจากกว่าร้อยละ 98 ของธุรกิจในภูมิภาค คือ MSME ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 40-60 ของ GDP ของเอเปค
“การประชุมในครั้งนี้ กำหนดหัวข้อหลัก เรื่อง การฟื้นตัวโดยรวมของ SME ในเอเปคผ่าน Bio-Circular-Green Economy (BCG) และระบบนิเวศที่มีผลกระทบสูง” โดยมี 4 หัวข้อย่อยที่จะร่วมกันพิจารณาแนวทางความร่วมมือ ประกอบด้วย
1. การเร่งรัดการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Accelerating BCG Adoption)
2. การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม (Inclusive Digital Transformation)
3. การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ (The Next Normal MSME Financing and Debt Restructuring)
4. การรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป (Coping with evolving market landscape: high impact policy)
ทั้งหมดนี้เพื่อให้สอดรับกับการให้ความสำคัญในระดับสากล และความร่วมมือที่จะเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
สำหรับผลที่จะได้จากการประชุมซึ่งจะมีการสรุปผลในวันพรุ่งนี้ (10 กันยายน) จะเป็นกรอบการทำงานด้านระบบการค้าและการลงทุนของภูมิภาคเอเปค ที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม มีพลวัตมากขึ้น ผ่านการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการค้าที่เสรี เปิดกว้าง ยุติธรรม โปร่งใส ด้วยการส่งเสริมการเติบโตที่มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ผู้ประกอบการ MSME รวมถึงการสนับสนุน Start up การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ MSME การเข้าถึงตลาดระดับโลกและห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและให้ MSME เตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญจะช่วยให้ MSME ฟื้นตัวผ่านการประยุกต์ใช้ BCG และระบบนิเวศที่มีผลกระทบสูง โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่า ลดการสร้างขยะ และส่งเสริมรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน ส่งเสริมบทบาทของ MSME ในเศรษฐกิจโลก บรรลุเป้าหมายตามหัวข้อหลักของการประชุมเอเปค 2022 คือ “Open. Connect. Balance. ด้วยการให้เอเปค “เปิด” ต่อทุกโอกาส “เชื่อมต่อ” ในทุกมิติและ “สมดุล” ในทุกด้าน