Update News :

Phuket Peranakan Festival 2022

ย้อนอดีตสู่อนาคตจากรากเก่าของชาวภูเก็ต กับ “Phuket Peranakan Festival 2022” กระตุ้นเศรษฐกิจด้วย Festival Economy

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB) ร่วมกับ สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA)  องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และชุมชนผู้ประกอบการ ผนึกกำลังจัดงานเทศกาลต้นแบบนำร่อง “Colours of Peranakan” ภายใต้ชื่อ “Phuket Peranakan Festival 2022” เพื่อสร้างต้นแบบงานเทศกาลให้เกิดความหลากมิติในจังหวัดภูเก็ต สร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนและเมือง โดยหวังว่างานเทศกาลต้นแบบ Phuket Peranakan Festival 2022  จะเป็นต้นแบบการจัดงานเทศกาลภายใต้แนวความคิด Festival Economy ให้กับอีกหลาย ๆ จังหวัดได้นำไปต่อยอด และเกิดการสร้างงานเทศกาลที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับชุมชน และเมืองต่อไป

 

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB) ได้ริเริ่มนำแนวความคิด  Festival Economy เพื่อยกระดับ และขับเคลื่อนงานเทศกาล โดยเป็นแนวความคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยงานเทศกาล  ภายใต้เป้าหมายใหญ่ในการ “ผลักดันเทศกาลเมืองสู่ตลาดโลก” จึงเป็นที่มาของการจัดงานเทศกาลต้นแบบ Phuket Peranakan Festival 2022  สีสันของศิลปวัฒนธรรมเพอรานากันที่ผสมผสาน และถูกนำมาประยุกต์สู่สื่อศิลปะต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน โดยเป็นการสร้างต้นแบบงานเทศกาลให้เกิดความหลากหลายมิติในจังหวัดภูเก็ต ยกระดับต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อต่อยอดทางด้านการตลาด เพื่อการสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน และเมือง รวมทั้งเป็นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชิดชูรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต และต่อยอดแนวคิด Festival Economy ร่วมสร้างงานจากภูมิปัญญาเพื่อสร้างความยั่งยืนกับพื้นที่เมืองเก่า และจังหวัดภูเก็ตต่อไป”

นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “เพื่อนำภูเก็ตไปสู่การเป็นภูเก็ต ปลอดภัย ทันสมัย ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราต้องมองว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์โควิด เขาคิดอะไร เปลี่ยนแปลงอะไร ชูอะไร ขึ้นเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ และคิดอย่างไรในการสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจร่วมกัน ตัวอย่าง เพอรานากัน เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่ยังอยู่ในประเพณี เช่น การแต่งงาน อาหารดั้งเดิม และบทเพลงพื้นเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่ทายาทเพอรานากัน พยายามรักษาวิถีอันดีงามของบรรพบุรุษ โดยจัดงานพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างเพอรานากันที่อยู่ในมาเลเซีย อินโดนีเซียและไทยปีละครั้ง เพื่อให้วัฒนธรรมเพอรานากันที่มีอยู่มานานแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มั่นคงอยู่ต่อไป โดยสมาคมเพอรานากันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องปรับตัวเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานต่อไป ดังนั้นการเกิดเทศกาล ซึ่งอยู่ในรูปของการสร้างการมีส่วนร่วมของคนทุกเพศวัยที่มาร่วมกันสื่อสารเรื่องเพอรานากัน จึงเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ดี งานเทศกาลจึงเปรียบเหมือนอาวุธสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ และยกระดับให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น
โดยภารกิจสำคัญของงานเทศกาลฯ นอกเหนือจากการเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแล้ว ยังเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ ที่มุ่งเน้นในการนำความคิดสร้างสรรค์ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และทุกอุตสาหกรรม อันจะเป็นการนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพอรานากันจึงเป็นต้นทุนการออกแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สำคัญ” 

ด้าน นายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) กล่าวว่า “สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับทีเส็บและชุมชนผู้ประกอบการ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ไทยหัว, ชุมชนย่านเมืองเก่า, สมาคมเพอรานากัน ศิลปินท้องถิ่น นักออกแบบท้องถิ่น และระดับประเทศ นักการตลาดทางด้านศิลปะระดับประเทศ และผู้เกี่ยวข้องท้องถิ่นต่าง ๆ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในจังหวัดภูเก็ต จัดงานเสวนา การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ รวมถึงนิทรรศการColours of Peranakan” งานในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างต้นแบบงานเทศกาลให้เกิดความหลากมิติในจังหวัดภูเก็ต สร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนและเมือง ยกระดับต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อต่อยอดทางด้านการตลาด และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน นักออกแบบ นักการตลาด และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อเชิดชูรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต และจะเป็นต้นแบบของงานนิทรรศการให้กับเมืองอื่นๆ ต่อไปในอนาคต” นายบุญเพิ่มกล่าวสรุป

โดยภายในงานมีการจัดงานเสวนา การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ รวมถึงนิทรรศการ Colours of Peranakan” เพื่อกระตุ้นรายได้เชิงเศรษฐกิจด้วยกิจกรรมย่อยต่าง ๆ ณ เมืองเก่าภูเก็ต ได้แก่ การประชุมสัมมนาระดับนานาชาติแบบ Hybrid: Phuket Peranakan Festival 2022 ภายใต้แนวคิด “Colours of Peranakan” ระดม ผู้เชี่ยวชาญเตรียมปั้นเทศกาลต้นแบบ ณ Sound Gallery House อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย 3 ประเด็น ได้แก่

 

  • Peranakan Community sustainability” ความยั่งยืนของชุมชนกับบ้านเพอรานากัน สู่คนรุ่นใหม่ โดย ดร.ทิพย์พิรุณ พุมดวง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาดดิจิทัล คณะบริการธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ (ศูนย์ภูเก็ต) ผู้ทำการศึกษาด้านวัฒนธรรมเพอรานากัน

 

  • Phuket Old Town and Charming Sino-Portuguese Architecture” เนื้อแท้และรากเหง้าของเพอรานากัน กับสถาปัตยกรรมชิโน ยูโนเปียน โดย นายแพทย์ โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน นายยุทธการ จันทรกานต์ สถาปนิก กรรมการผู้จัดการ สำนักงานสถาปนิก และนายวทัญญู เทตหัตถี ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าภูเก็ต

 

  • Colours of Peranakan to today’s world” สีสันของเพอรานากันสู่โลกปัจจุบัน โดย Lee Yuen Thien รองประธาน บาบาและยอนย่า เฮอริเทจ พิพิธภัณฑ์มะละกา มาเลเซีย Alvin Oon ผู้อำนวยเพอรานากัน ซายัง สิงคโปร์ Didi Budiardjo ศิลปินบาติด เพอรานากันจากอินโดนีเซีย ผศ.ปราณี สกุลพิพัฒน์ อุปนายกเพอรานากันประเทศไทย และนายแพทย์ โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน

 

มีการแสดง Live Performing Art – Colours of Peranakan สีสันของรากเหง้าเพอรานากัน ด้วยแสง สี เสียงและการย้อนบรรยากาศวัฒนธรรมที่หาดูยากยิ่ง ณ Sound Gallery House อ. เมืองภูเก็ต

 

การเยี่ยมชมโครงการ 1 บ้าน 1 เพอรานากัน และชมการแสดง Show Case ชุดแต่งกาย Baba และ Ngonya แบบดั้งเดิมเดิม และชุดแต่งกายเพอรานากันแบบสมัยใหม่ รวมทั้งการแสดง light up & projection show ที่บอกเล่าความเป็นมาของเพอรานากันตั้งแต่การเดินทางในอดีต สู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมจนเกิดเป็น วัฒนธรรม ประเพณีเฉพาะตัวของเพอรานากันที่สืบสานมาจนถึงยุคปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเปิดบ้านชินประชา มรดกแห่งเพอรานากัน  ณ บ้านชินประชา เปิดตำนานพิพิธภัณฑ์ไทยหัว ณ พิพิธภัณท์ไทยหัว  เปิดชุมชนพิพิธภัณฑ์หม่อเส้ง ณ พิพิธภัณฑ์หม่อเส้ง และการแสดง Peranakan Live Street Show โชว์นานาชาติของเพอรานากันครั้งแรกบนเกาะภูเก็ต ณ ถ.รมณีย์ย่านเมืองเก่า และถนนถลาง