ศศินทร์ เปิดตัว “ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมระดับจังหวัด” เครื่องมือวัดผลนำสู่แนวทางในการยกระดับสังคมและคุณภาพชีวิตประชาชน
Sasin School of Management (สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) สถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุกิจ จัดงานสัมมนาเปิดตัวดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมระดับจังหวัด ทางเลือกใหม่ในการวัดการเปลี่ยนแปลงของทุนมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการ “การพัฒนาดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมระดับจังหวัดของประเทศไทย” เพื่อให้ผู้นำและผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในโลกธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการวัดผลเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการจัดทำโครงการต่างๆ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย
ศาสตราจารย์ ดร. เอียน เฟนวิค (Professor Ian Fenwick, Ph.D.) ผู้อำนวยการ Sasin School of Management กล่าวว่า “ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมนี้ จะช่วยขับเคลื่่อนประสิทธิผลของนโยบาย ทั้งการลงมือทำและการสร้างการเปลี่ยนแปลง เรามั่นใจว่าความร่วมมือระหว่าง ศศินทร์ กับ Social Progress Imperative และการเปิดตัว SPI Thailand ในวันนี้จะถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมต่อ และเปลี่ยนแปลง เพื่อโลกที่ดีขึ้น ฉลาดขึ้น ยั่งยืนขึ้น และสามารถสร้างอิมแพคที่สำคัญต่อสังคมโดยรวม”
ไมเคิล กรีน (Michael Green) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Social Progress Imperative เปิดเผยว่า “ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งก็ต่อเมื่อผู้นำในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม นำไปใช้ประโยชน์ ผลักดันไปสู่การใช้งานจริง เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและชุมชน อย่างไรก็ตาม GDP และการวัดผลทางเศรษฐกิจนั้นยังไม่ครบถ้วนและครอบคลุมในทุกมิติ ตลอดจนการวัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ให้ข้อมูลในแง่ของความยั่งยืน และจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นยิ่งทำให้ต้องเพิ่มความเร่งด่วนในการพัฒนาความก้าวหน้าของสังคมให้เร็วขึ้นไปอีก ความก้าวหน้าทางสังคมจึงเป็นพื้นฐานของความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งดัชนี SPI เป็นเครื่องมือในการวัดสิ่งเหล่านี้และจะมีบทบาทในการช่วยชี้ให้ธุรกิจต่างๆ เห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนความก้าวหน้าทางสังคม”
อาจารย์ นิกม์ พิศลยบุตร รองผู้อำนวยการ Sasin School of Management กล่าวเสริมว่า “การพัฒนาดัชนีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ข้อมูลเพื่อวัดความก้าวหน้าของสังคมไทยซึ่งอยู่บนพื้นฐานของกรอบการทำงานที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาดัชนีนี้ให้มีความเหมาะสมกับบริบทและเป้าหมายของสังคมไทย ดัชนีนี้คือเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถติดตามและพัฒนาความก้าวหน้าทางสังคมของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรไปยังที่ๆ มีความต้องการมากที่สุด”
ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม คือ ข้อมูลทางสถิติที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางสังคม ซึ่งแยกต่างหากจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยที่ผลคะแนนมาจากตัวชี้วัดด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งครอบคลุมความก้าวหน้าทางสังคมครบทั้ง 3 มิติ ได้แก่ ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Human Needs) พื้นฐานของการอยู่ดีมีสุข (Foundations Of Wellbeing) และโอกาสทางสังคม (Opportunity) ซึ่งภาพรวมในปี 2564 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 71 จากทั้งหมด 168 ประเทศ
ทั้งนี้ ศศินทร์ ได้เริ่มต้นทำโครงการดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมในระดับจังหวัดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 โดยมุ่งหวังให้นำไปสู่การใช้ดัชนีนี้เป็นเครื่องมือประเมินความก้าวหน้าของคนในระดับจังหวัด และเพื่อให้จังหวัดต่างๆ ได้ทราบถึงลำดับตำแหน่งความก้าวหน้าของคนในจังหวัดของตน พร้อมทั้งจุดเด่นจุดด้อยในการพัฒนาคนของจังหวัดซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนในจังหวัดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ดัชนีความก้าวหน้าของคนสู่สาธารณชนได้ใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมต่อไป อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมของจังหวัดต่างๆ อาทิ ด้านการศึกษา สันติภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ การเข้าถึงบริการสาธารณะ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง และอื่นๆ ได้ที่ https://bit.ly/3e0b3Jb หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ spi@sasin.edu