มนต์เสน่ห์ศิลปะขอมชม “นางอัปสราถือดอกบัว” ได้ที่ปราสาทศีขรภูมิ
ปราสาทศีขรภูมิ หรือ ปราสาทระแงง ตั้งอยู่ข้างวัดบ้านปราสาท บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทที่งดงามที่สุดและมีความสมบูรณ์มากในจังหวัดสุรินทร์
มีการสันนิฐานว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 ด้วยสถาปัตยกรรมขอมโบราณแบบนครวัด เดิมที่นี่เป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายเพื่อบูชา พระศิวะและพระอิศวร เทพเจ้าแห่งศาสนาฮินดู
เราจะเห็นปราสาทหินสีแดงถูกล้อมด้วยคูน้ำตั้งเด่นตระหง่านชวนให้สะดุดตา ด้วยฐานหินศิลาแลงสูงหนึ่งเมตรประกอบด้วยปรางค์ 5 องค์ ก่ออิฐไม่ถือปูนตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยปรางค์บริวารอีก 4 องค์ โดยซุ้มประตูเราจะได้เห็นเสาหินทรายเป็นรูป “นางอัปสราถือดอกบัว” และ “ทวารบาลยืนกุมกระบอง” ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่พบที่ปราสาทศิลปะเขมรโบราณแห่งใดอีกเลยในประเทศไทย พบที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
อีกความงดงามจนเป็นที่กล่าวขานคือ ศิลาทับหลังที่อยู่บนหน้าบรรณซึ่งได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์และสวยงามมากที่สุดในประเทศไทย หินทรายสลักลวดลายวิจิตรเป็นรูป “ศิวะนาฎราช” ในท่วงท่าร่ายรำอ่อนช้อยโดยมีเทพอีก 4 องค์คือ พระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี (พระแม่อุมา) รวมถึงเทวดา ฤษี และสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มากมายร่วมบรรเลง ปราสาทศีขรภูมิยังมีทับหลังอีก 3 แผ่น ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ 2 แผ่น และที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายอีก 1 แผ่น นอกจากลวดลายสลักเสลาบนทับหลังและซุ้มประตู ปราสาทศีขรภูมิยังมีเครื่องประดับปราสาทอื่นๆ ที่สวยงามอีกมากมาย เช่น “กลีบขนุน” หินสลักลวดลายที่ใช้ประดับตามยอดของปรางค์ปราสาท แต่ถ้าอยากจะชมโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ ที่ขุดค้นพบในบริเวณปราสาทศีขรภูมิ สามารถเข้าไปชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ ซึ่งที่นั่นจะจัดแสดงโบราณวัตถุสำคัญๆ ไว้มากมายหลายชิ้น ให้เราได้ศึกษา และในช่วงเดือนพฤศจิกายนจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองปราสาทศีขรภูมิเป็นประจำทุกปี
ซึ่งปราสาทศีขรภูมิเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งที่เราจะได้ชมศิลปะขอม ความรุ่งเรืองในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน มีความสวย สมบูรณ์แบบในเชิงสถาปัตยกรรมเป็นไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดของจังหวัดสุรินทร์เลยทีเดียว