ทีเส็บ พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจงาน Expo 2028 Phuket Thailand ผ่านกิจกรรม Future of Life ดึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนในตำบลไม้ขาว จ.ภูเก็ต

15 ธันวาคม 2565, โรงเรียนบ้านไม้ขาว, ภูเก็ต: สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจงาน Expo 2028 Phuket Thailand กับชาวภูเก็ต ผ่านกิจกรรม Future of Life โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการจัดงานกว่า 141 ไร่

ทีเส็บ ในฐานะหน่วยงานด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์และผลักดันประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ระดับโลก ได้เป็นตัวแทนประเทศเพื่อประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต นับเป็นโปรเจกต์ใหญ่ที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และเป็นหนึ่งในโอกาสสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูธุรกิจและอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ภูเก็ตและประเทศไทยโดยรวม ซึ่งการประมูลสิทธิ์นี้ทีเส็บได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563

ล่าสุด เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทีเส็บได้นำเสนอ Country Presentation ครั้งที่ 2 ในเวทีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีขององค์การนิทรรศการนานาชาติ (Bureau International des Expositions – BIE) ครั้งที่ 171 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยแข่งขันกับอีก 4 ประเทศ ได้แก่ เซอร์เบีย สเปน อาร์เจนตินา และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะประกาศผลประเทศที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในเดือนมิถุนายน 2023

พัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคใต้ (ทีเส็บ) กล่าวว่า “ปัจจุบันชุมชนมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญต่อไปในอนาคต ในฐานะที่ตำบลไม้ขาวได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานจากการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 Phuket Thailand ทีเส็บจึงมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานฯ นี้ผ่านกิจกรรม Future of Life เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตของภูเก็ตในฐานะจุดหมายปลายทางรองรับงานไมซ์ระดับโลกในระหว่างที่รอประกาศผล”

กิจกรรม Future of Life ทีเส็บทำงานร่วมกับจังหวัดภูเก็ต และ คุณจุ๋ม – อรสา โตสว่าง มูลนิธิบ้านอาจ้อ ซึ่งประกอบไปด้วย “โครงการมัคคุเทศก์น้อย หัวใจ ….. จิตอาสา ท่องเที่ยวชุมชนบ้านไม้ขาว” กิจกรรมพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ให้มีบทบาทในการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนให้เป็นที่รู้จักแก่นักเดินทางกลุ่มไมซ์ โดยคัดเลือกนักเรียนชั้น ป.3 – ป.6 โรงเรียนบ้านไม้ขาว จำนวน 20 คน เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อพัฒนาต่อยอดทักษะและองค์ความรู้ สู่การสร้างอาชีพให้กับเด็ก ๆ ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนโดย จาก ผศ.ดร.กุลดา เพ็ชรวรุณ หัวหน้าสาขาการจัดการการท่องเที่ยว คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และ วันนริศา วัฏฏ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมปรับปรุงห้องเรียนบริเวณชั้น 2 ของโรงเรียนบ้านไม้ขาว เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ Expo 2028 Phuket Thailand อีกทั้งยังเป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ซึ่งมุ่งเน้นกิจกรรมจิตอาสาด้านการท่องเที่ยวและการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “Volunteer Tourism เที่ยวปันน้ำใจ เที่ยวจิตอาสา” โดยมูลนิธิบ้านอาจ้อ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ เสงี่ยม อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปกรรมศาสตร์ (ศิลปะและการออกแบบ) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และกลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาฯ มาร่วมเป็นกลุ่มจิตอาสาในครั้งนี้อีกด้วย

สำหรับการปรับปรุงห้องเรียนโรงเรียนบ้านไม้ขาว ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากมูลนิธิบ้านอาจ้อ และเครือข่ายพันธมิตรของชาวภูเก็ต เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาทภายในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินการปรับปรุงโรงเรียน 1.8 ล้านบาท และ ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็น 2 แสนบาท สำหรับบ้านอาจ้อ คฤหาสน์อายุกว่า 200 ปีอันงดงามในพื้นที่ตำบลไม้ขาว ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่เคยเป็นจุดรวมพลของผู้คนในพื้นที่ซึ่งทำให้พวกเขารอดพ้นจากสงครามมาได้ ปัจจุบันอังม่อหลาวแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของชาวจีนในภูเก็ต ควบคู่ไปกับร้านอาหาร บิบ กูร์มองด์ โดย มิชลิน ไกด์ อย่างร้านโต๊ะแดง บ้านอาจ้อ นอกจากจะใช้วัตถุดิบจากชุมชนท้องถิ่นแล้ว ที่ร้านอาหารแห่งนี้ยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ผ่านการจ้างงานผู้คนในพื้นที่อีกด้วย และกลายเป็นปณิธานของมูลนิธิบ้านอาจ้อในด้านการสนับสนุนและพัฒนาตำบลไม้ขาวให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากกิจกรรม Future of Life แล้ว ทีเส็บยังได้จัดทำคู่มือ “การเดินทางแห่งความหมาย” (The Meaningful Experience) ของนักเดินทางกลุ่มไมซ์โดยเรือสำราญขึ้น เป็นการต่อยอดความสำเร็จจาก “โครงการพัฒนาสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมเรือสำราญและอาหารพื้นถิ่นผ่านงานภูมิภาคใต้ในปี พ.ศ. 2564” ที่ผ่านมา คู่มือเล่มนี้นำเสนอเรื่องราวความสุขกายสบายใจ (Well-being) สะท้อนความยั่งยืน (Sustainability) ผ่านความเป็นอยู่ของผู้คน ร้อยเรียงเล่าผ่านเส้นทางการสร้างประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และระนอง พร้อมข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารท้องถิ่นเลิศรส สินค้าและบริการอันเป็นเอกลักษณ์ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม และกิจกรรมด้านการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เหมาะแก่การเผยแพร่ไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ต่อยอดไปสู่การสร้างและกระจายรายได้สู่ชุมชน พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ และสร้างเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป