๑๓ เมษายน ศกนี้ ร่วมสรงน้ำ “พระพุทธสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช” ฟื้นฟูตรุษสงกรานต์เมืองนคร หนึ่งในต้นทางประเพณีสงกรานต์เมืองไทย
อลังการขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ มหาสงกรานต์ของชาวนครฯ
ยลความยิ่งใหญ่ของช้างเขาหลวงร่วมขบวนนำเรือพระแห่งเมืองนคร
ตามถนนราชดำเนินสู่มหาเบญจาพระสิหิงห์อย่างเมืองนครแต่ก่อน
ร่วมสรงน้ำสงกรานต์ท่ามกลางหมู่ช้างที่สนามหน้าเมืองนครตลอดวัน
.
พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนคร ในหนังสือบุดโบราณออกนามว่า “พระพุทธศรีหิงค์สำหรับเมือง” ด้วยเป็นพระพุทธรูปที่เก็บรักษาอยู่ในหอพระประจำวังเจ้าเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชรคือนั่งขัดสมาธิโดยเอาปลายเท้าทั้งสองขัดขึ้นมาที่ต้นขา มีพระพักตร์แช่มชื่นเปี่ยมด้วยเมตตา เป็นที่เคารพสักการะของชาวนครและชาวปักษ์ใต้มาอย่างยาวนาน และมีคติการปั้นจำลองพระพุทธสิหิงค์สำหรับเมืององค์นี้ประดิษฐานไว้ตามวัดต่าง ๆ มากมาย
.
ในสมัยโบราณชาวนครศรีธรรมราชจะมนต์ หรืออัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกมาตั้งเป็นประธานในท่ามกลางมณฑลพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง ด้วยเชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์มีอานุภาพมากในการขับไล่เสนียดจัญไร และอุปัทวันตรายทั้งปวงให้พ้นไป พิธีที่สำคัญมากที่สุดคือพิธีตรุษซึ่งแต่เดิมจะจัดขึ้นในระหว่างวันขึ้น ๑๒-๑๕ ค่ำเดือน ๔ ของทุกปี โดยจะเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกตั้งบนเบญจาในท้องพระโรงเจ้าเมืองนคร มีการสวดสมโภชตลอด ๓ วันสามคืน ระหว่างนั้นจะมีการพุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเงินตอกตรานโม จนกระทั่งเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กรมการเมืองก็จะนำน้ำนั้นออกประพรมทั่วทั้งเมือง พร้อมกับซัดโปรยเงินตอกตรานโม ตามประตูและป้อมกำแพงเมือง เพื่อให้พุทธคุณได้ขับไล่โรคระบาดและสิ่งอัปมงคลออกไป
.
เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไปพิธีกรรมที่ซับซ้อนในอดีตได้ลดรูปแบบลงมาเป็นการมนต์พระพุทธสิหิงค์ออกแห่ และประดิษฐานบนเบญจาให้ประชาชนได้สรงน้ำในทุก ๆ วันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี ร่วมกับการพุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อโบราณทั้ง ๖ บ่อ ซึ่งจะเป็นเพียงวาระเดียวในรอบปีเท่านั้นที่ประชาชนจะได้สรงน้ำและสักการะพระพุทธสิหิงค์อย่างใกล้ชิดเหมือนดั่งที่คนปักษ์ใต้ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาได้เคยกระทำ เป็นโอกาสพิเศษที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง