หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไท-ยวน ศึกษาวิถีชีวิตชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น สระบุรี

หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี เกิดจากแรงบันดาลใจของอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ที่ต้องการอนุรักษ์มรดกของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน จึงได้รวบรวมทั้งสถานที่และสิ่งของต่างๆ เช่น เรือนของเจ้าเมืองสระบุรี เรือนของเสือคง (โจรเลื่องชื่อดังในอดีตของจังหวัดสุพรรณบุรี) ผ้าทอโบราณ และสิ่งของสะสมพื้นบ้านต่างๆ ที่นำมาเก็บแสดงไว้

โดยอาจารย์ตั้งใจว่าจะให้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชาติพันธุ์ไทยวน สระบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวล้านนาที่ถูกกวาดต้อนอพยพมาจากเมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว

จนปี 2536 อาจารย์ได้จัดตั้งชมรมไทยวนสระบุรีขึ้น เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และสืบทอดในเอกลักษณ์ของชาวไทยวน อาทิ ภาษา วัฒนธรรม การแต่งกาย การกินขันโตก และต่อมาในปี 2539 ได้มีโครงการ Thing Earth ของบริษัทสยามกลการ เข้ามาสนับสนุนในการจัดตั้งเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน 

พื้นที่จัดแสดง คือ ส่วนของเรือนไทยและพื้นที่โดยรอบ เป็นการจำลองให้มีองค์ประกอบเหมือนบ้านที่อยู่อาศัยจริงๆ ทั้งเรือนหลัก เรือนย่อย ห้องโถง ห้องนอน โดยทุกห้องจะจัดแสดงวัตถุและบรรยากาศแบบชาวไทยวน  แบ่งเป็น

     1) ประวัติและวิวัฒนาการ ความเป็นมาของชาวไทยวนที่อพยพลงมาจากเมืองเชียงแสนเมื่อ 200 ปีที่แล้ว

     2) วิถีชีวิตของ จัดจำลองบรรยากาศความเป็นอยู่ของชาวไทยวนผ่านเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ทำมาหากิน   

     3) กลุ่มชนเผ่า นิทรรศการเอกลักษณ์ของชาวไทยวน เอกลักษณ์การแต่งกาย ภาษาพูด อาหารการกิน เป็นต้น

     4) วัฒนธรรมและประเพณี จัดกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรม การกินอาหารแบบขันโตก

     5) ภูมิปัญญา ในการประดิษฐ์เครื่องใช้ เครื่องมือในการทำการเกษตร การประมง

  • ข้อมูล หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน
  • ที่อยู่ : 48 หมู่ 6 ตำบลดาวเรือง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี 18000
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/SQznobjLPyWNYkEy7 
  • เปิดทุกวัน เวลา 08.30-16.00 น. (ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
  • ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม: โทร. 0-3672 5224
  • ขอบคุณข้อมูล : https://www.museumthailand.com/th/museum