วัดพระแก้ว ราชินีแห่งเจดีย์ในเอเชียอาคเนย์ วัดเก่าแก่ของ จังหวัดชัยนาท

วัดพระแก้ว เป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ของ จังหวัดชัยนาท โดยจะตั้งอยู่ที่ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี  เมื่อก่อนนั้นวัดนี้แต่เดิมมีชื่อว่า วัดป่าแก้ว เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งต่อมามีคนพบพระพุทธรูปองค์เล็กขนาดเท่าปลายนิ้วมือทำด้วยแก้วจากในเจดีย์จึงเรียกกันติดปากว่า วัดพระแก้ว หรือ วัดพบแก้ว ซึ่งอายุเก่าแก่พอๆ กับวัดมหาธาตุ

ภายในวัดมี “ราชินีแห่งเจดีย์ในเอเชียอาคเนย์” ซึ่งเป็นเจดีย์แบบละโว้ทรงสูงผสมกับศิลปะทวารวดี ตอนปลายฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้ศิลปะสุโขทัยและศรีวิชัยผสมผสานกันจนกลายเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา

หลวงพ่อฉาย เป็นพระพุทธรูปศิลาแลงสีแดงอยู่ในวิหาร ด้านหน้าพระเจดีย์สี่เหลี่ยมวัดพระแก้ว กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าหลวงพ่อฉายมีอายุประมาณ 800 ปี ล่วงมาแล้ว ด้านหน้ามีลักษณะเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป แต่ด้านหลังมีทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในเรือนแก้วฝังอยู่ในองค์พระ ในลักษณะกลับหัว ทับหลังนี้เป็นศิลปะขอม มีอายุกว่าพันปี เป็นการนำโบราณวัตถุมาสร้างเป็นองค์พระพุทธรูป ทับหลังที่กลับหัวนั้นมีการตีความตามปริศนาธรรมว่า “ผู้ที่ต้องการความสำเร็จสูงสุดเช่นพุทธองค์ จะต้องรู้จักปฏิบัติทวนกระแสแห่ง โลภะ โทสะ โมหะ ถึงจะพบความสุขในชีวิต โดยสันนิษฐานว่าน่าจะขนย้ายมาจากปราสาทแห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา และมี หลวงพ่อพลอย พระพุทธรูปที่ชาวบางน้ำพระร่วมใจกันอัญเชิญใส่เกวียนมา แล้วใช้แพข้ามแม่น้ำน้อยมาประดิษฐานที่ วัดพระแก้ว แห่งนี้ เลยเป็นที่มาของชื่อหลวงพ่อลอย

ด้านหลังองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมมีพระพุทธรูปสีขาว นามว่าหลวงพ่อขาว ตั้งอยู่ในวิหารกลางแจ้งเป็นห้องอิฐสี่เหลี่ยม  ภายใต้ร่มไม่ใหญ่ บริเวณทางเข้าและมีซากของพระพุทธรูปเก่าแก่ตั้งอยู่ด้วย วัดนี้จึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่เป็นวัดสำคัญของจังหวัดชัยนาท