ร้อนนี้อย่าประมาท โรงพยาบาลพญาไท 2 เตือน “Heat Stroke” ภัยร้ายหน้าร้อน
ปิดเทอมใหญ่นี้ คุณพ่อคุณแม่คงกำลังเฝ้ารอที่จะได้เห็นลูก ๆ ออกจากห้อง ออกจากบ้าน มาวิ่งเล่นออกกำลังกายกันอย่างสนุกสนานกลางแจ้งในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรเฝ้าระวัง เพราะสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะเจอ นอกจากการสร้างเสริมสุขภาพ หรือได้เหงื่อจากการออกกำลังกายธรรมดา ๆ แล้ว อาจจะทำให้ลูกคุณไม่สบายถึงขั้นเป็น “ฮีทสโตรก” (Heat stroke) หรือ “โรคลมแดด” ได้โดยเฉพาะยิ่งเป็นเด็กเล็กที่ยังเพลิดเพลินกับความสนุกสนานไม่ทันสังเกต หรือไม่เข้าใจอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่
คำแนะนำดีๆในการป้องกัน ฮีทสโตรกในช่วงหน้าร้อนนี้
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการหรือไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็มีอันตรายถึงชีวิตได้!
ผศ.พญ.ชิดชนก เธียรผาติ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาท รพ.พญาไท 2 แนะนำว่า เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เราจะสังเกตพบว่า เด็กมีอาการฮีทสโตรก ซึ่งถึงตอนนั้นบางรายอาจจะมีอาการอยู่ในช่วงวิกฤตแล้ว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงผู้ที่ดูแลกิจกรรมให้กับเด็ก ๆ ควรเฝ้าสังเกตหรือป้องกันดังต่อไปนี้
- เด็กมีการอ่อนเพลียระหว่างทำกิจกรรมหรือไม่ แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ทำอยู่ภายในอาคารหรือในร่ม
แต่ถ้าอากาศมีความอบอ้าวจนถึงร้อน และกิจกรรมนั้นทำให้เสียเหงื่อมาก โอกาสที่จะให้เกิดอาการ
ฮีทสโตรกก็เป็นไปได้ไม่ต่างกันกับการทำกิจกรรมอยู่กลางแจ้ง
- อาการที่พบ สิ่งแรกที่เราจะพบกับเด็กที่เป็นฮีทสโตรกคือมีอาการตัวแดงเหมือนเป็นไข้ แต่ในขณะเดียว
กันเมื่อสัมผัสตัวเด็กกลับพบว่า ตัวเด็กตัวเย็น
- บางคน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในบางรายที่พอสื่อสารได้ จะสื่อสารแบบสับสน กระวนกระวาย
เหมือนคนไม่ได้สติ มีอาการกล้ามเนื้อเป็นตะคริว หลังจากนั้นอุณหภูมิในร่างกายจะสูง ซึ่งอาจจะสูงถึง 41 องศาเซลเซียส ผิวจะแห้ง ชีพจรจะเต้นถี่ แรง และหมดสติในที่สุด
เมื่อเจอ ฮีทสโตรกคุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติ เริ่มการปฐมพยาบาลขั้นต้น ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อลดอุณหภูมิที่สูง
1. ให้นำตัวเด็กเข้าพื้นที่ร่ม อากาศเย็น หรือเข้าห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
2. จัดท่า ให้เด็กนอนอยู่ราบ และยกเท้าสูงกว่าศีรษะเล็กน้อยเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
3. ปลดเสื้อผ้าเพื่อช่วยในการระบายความร้อน
4. หากเด็กยังมีสติ ให้จิบน้ำเรื่อย ๆ แต่ไม่ควรให้ดื่มเป็นปริมาณเยอะ ๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัว และประคบ
ตามซอกตัว เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายให้เร็วขึ้น ไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดราดตัว เพราะอาจจะ
ทำให้เกิดตะคริวมากขึ้น
การป้องกัน ลดเจอร้อน ลดฮีทสโตรกได้ หลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีแดดจัดหรือช่วงที่มีอากาศร้อน รวมถึงในพื้นที่หรือสถานที่ร้อนอบอ้าว เป็นการลดโอกาสในการเกิดฮีทสโตรกได้ดีที่สุด เน้นเสื้อผ้าที่สวมใส่ระบายความร้อนได้ดี โปร่งสบาย สวมหมวกช่วย หากมีความจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง เตรียมน้ำดื่มและให้เด็กๆ ได้ดื่มน้ำให้เพียงพอก็จะช่วยได้มากทีเดียว นอกจากนี้เด็ก ๆ ที่ภาวะโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวมาก หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว ผู้จัดกิจกรรมควรพิจารณาการให้เด็กงดเข้าร่วมกิจกรรม เพราะเด็กที่ป่วยบางโรคหรือการใช้ยาบางชนิดเป็นปัจจัยในการให้เกิดฮีทสโตรกได้ง่ายกว่าเด็กปรกติ
“ฮีทสโตรก” เป็นได้ทุกเพศทุกวัย แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว ความสนุกสนานหรือการเพลิดเพลินกับกิจกรรมกับเพื่อน ๆ และความไร้เดียงสา อาจนำมาซึ่งอาการป่วยของเขาได้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคนที่จัดกิจกรรม ต้องตระหนักเห็นในเรื่องนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด หรือเฝ้าสังเกตความผิดปรกติที่เกิดในเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้นเพื่อลดความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 2 อาคาร B ชั้น 2
โทร. 02-617-2444 ต่อ 3219, 3220 หรือ Phyathai Call Center 1772